หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

“Samsung” บุกยึดตลาด "Mass Mobile"

กว่าปีแล้วที่แบรนด์ "ซัมซุง" จากแดนเกาหลีบุกตลาดมือถือ "สมาร์ทโฟน" อย่างหนัก หลังจากตลาดมือถือฟีเจอร์โฟนถึงจุดอิ่มตัวหันมาแข่งขันกันสร้าง "สงครามราคา" จนไม่เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ของโปรดักส์ออกสู่ตลาด แต่เมื่อแอปเปิลส่ง iPhone3 และตามด้วย iPhone4 ลงตลาดมาในช่วงปลายปีและไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งแรงกระเพื่อมให้ค่ายมือถืออื่นๆ เล็งเห็นโอกาสหันมาสร้าง "นวัตกรรมโปรดักส์" ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีจนกลายเป็น "สมาร์ทโฟน" ลงสนามท้าชิงและเป็นแบรนด์ทางเลือก ซึ่งแบรนด์ซัมซุงก็เป็นอีกค่ายหนึ่งที่ประกาศตัวชัดเจนกับแนวทาง "Innovation Products" ในตลาดมือถือสมาร์ทโฟน ที่กำลังเติบโตอย่างหนักในขณะนี้

"กระแสความนิยมของผู้บริโภคต่อสมาร์ทโฟนและแท็บเลตทั้งในระดับประเทศและทั่วโลกในปัจจุบันยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยในประเทศไทยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ปัจจุบันมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทยคิดเป็น 15% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด (จำนวนเครื่อง) ซึ่งนับเป็นการเติบโตกว่า 170% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งภาพรวมในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาของซัมซุง ยอดขายสมาร์ทโฟนเติบโตกว่า 3 เท่า ซึ่งนับเป็นการเติบโตสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของซัมซุง" วิชัย พรพระตั้ง ผู้อำนวยการธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด บอกกับคณะสื่อมวลชนในโอกาสสัมภาษณ์พิเศษเมื่อเร็วๆ นี้



สมาร์ทโฟนซัมซุงแรง!!

ปัจจัยหลักของการเติบโต ผู้บริหารซัมซุงวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งมาจากกลยุทธ์นวัตกรรมโปรดักส์ ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซัมซุงได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนจากตระกูลกาแล็คซี่ (Samsung Galaxy Family) หลากหลายรุ่นที่สามารถตอบรับความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม

ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง กาแล็คซี่ คูเปอร์ (Samsung Galaxy Cooper) ซัมซุง กาแล็คซี่ ฟิต (Samsung Galaxy Fit) ซัมซุง กาแล็คซี่ มินิ (Samsung Galaxy Mini) และสมาร์ทโฟนหัวหอกอย่างซัมซุง กาแล็คซี่ เอส ทู (Samsung Galaxy S II) ที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีเกินความคาดหมาย โดยมียอดจองกว่า 2,000 เครื่อง หลังเริ่มเปิดให้จองในเมืองไทย เพียง 1 ชั่วโมง รวมไปถึงผลตอบรับที่ดีเกินคาดจากผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น เอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยกวาดยอดขายไปกว่า 3 ล้านเครื่อง ในเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น

นอกจากกลยุทธ์โปรดักส์แล้ว มีปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ซัมซุงสมาร์ทโฟนประสบความสำเร็จอย่างล้มหลามในช่วงครึ่งปีแรก นั่นคือ กลยุทธ์พัฒนา Research&Development หรือด้านการค้นคว้าวิจัย (R&D) และการศึกษาถึงความต้องการของผู้บริโภค (Consumer Insight) ที่ช่วยให้ซัมซุงเข้าใจและสามารถตอบรับความต้องการได้อย่างตรงจุด

นอกจากนี้ ยังใช้กลยุทธ์พันธมิตร ในการส่งเสริมการตลาดและการขาย โดยซัมซุงร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ 3 รายใหญ่ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในประเทศไทยได้อย่างครอบคลุม พร้อมทั้งโปรโมชั่นพิเศษสุดจากโอเปอเรเตอร์แต่ละค่าย รวมถึงการสร้างกระแสความแรงของซัมซุงสมาร์ทโฟนในกลุ่มผู้นำความคิดในสังคมและสังคมออนไลน์ นอกจากนี้บริเวณจุดขายของซัมซุงยังได้รับการออกแบบและตกแต่งอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสประสบการณ์จากสมาร์ทโฟนซัมซุงได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งมีการฝึกอบรมพนักงานเพื่อคอยให้คำแนะนำและตอบข้อซักถามของผู้บริโภค



เจาะตลาดกวาดทุกเซกเมนต์

สำหรับกลยุทธ์การตลาดครึ่งปีหลังของปีนี้ ซัมซุงได้เตรียมกลยุทธ์หลัก นั่นคือ นวัตกรรมโปรดักส์ใหม่จำนวน 20 รุ่น ทั้งสมาร์ทโฟน และฟีเจอร์โฟน เจาะตลาดทุกเซกเมนต์ ซึ่งปัจจุบันซัมซุงมี 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ตลาดคนเมืองหลวง และตลาดต่างจังหวัด ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนมูลค่าประมาณกลุ่มละ 50 เปอร์เซ็นต์

ควบคู่ไปกับ กลยุทธ์การพัฒนาช่องทางจำหน่ายให้ตอบโจทย์ลูกค้า โดยเน้นลงทุนปรับปรุงร้านจำหน่ายมือถือซัมซุงในเครือข่ายให้ลูกค้าสามารถเข้าไปศึกษาว่าสมาร์ทโฟนคืออะไร และสร้างประสบการณ์โดยตรงกับมือถือทั้งสมาร์ทโฟนและฟีเจอร์โฟน กว่า 300-400 ร้านค้า ซึ่งได้ล่วงหน้าดำเนินการไปแล้ว โดยจะส่งผลดีต่อการขายสินค้าในช่วงครึ่งปีหลังนี้

"พฤติกรรมคอนซูเมอร์ตัดสินใจซื้อสินค้าจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ หนึ่ง-ฟังก์ชั่นของมือถือ สอง-ราคา ซึ่งต้องตอบโจทย์ความต้องการได้ทุกกลุ่ม ซึ่งแตกต่างกัน ปัจจุบันโปรดักส์มือถือของซัมซุงตอบความต้องการตั้งแต่กลุ่มเอนทรี (Entry) กลุ่มมิทเทียร์ (Mid-Tier) และกลุ่มพรีเมียม (Premium) โดยเฉพาะกลุ่มเอนทรี และมิดเทียร์ เป็นกลุ่มที่ซัมซุงจะเน้นทำตลาดเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง"

ทั้งนี้ สำหรับมือถือสมาร์ทโฟนกลุ่มเอนทรี เป็นเซกเมนต์ที่ซัมซุงได้สร้างตลาดขึ้นมาล่าสุด โดยโปรดักส์มือถือกลุ่มนี้ มีตั้งแต่ 1.ราคา 4,000 บาทขึ้นไป 2.ราคา 4,000-8,000 บาท 3.ราคา 8,000 บาทขึ้นไป โดยปัจจุบันมีซัมซังตระกูล Galaxy Mini เป็นหัวหอกในการเจาะตลาดสำหรับลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ต้องการอัปเกรดจากฟีเจอร์โฟน มาใช้สมาร์ทโฟนราคาไม่สูงนัก โดยรุ่นนี้ราคาอยู่ที่ 4,900 บาทต่อเครื่อง

ปัจจุบันมือถือรุ่นที่ขายดีที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ซัมซุง กาแล็คซี่ มินิ 2.ซัมซุง กาแล็คซี่ คูเปอร์ และ 3.ซัมซุง กาแล็คซี่ เอส ทู โดยยอดจำหน่ายของมือถือซัมซุงโดยรวมทุกรุ่นเฉลี่ย 10,000 เครื่องต่อเดือน ปัจจุบันสัดส่วนของสมาร์ทโฟน 50 เปอร์เซ็นต์ และฟีเจอร์โฟน 50 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มเอนทรีมีสัดส่วนยอดขายคิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มมิดเทียร์และพรีเมียม มีประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ในด้านงบการตลาดมือถือ ซัมซุงได้จัดเตรียมไว้ 1,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ซัมซุงยังประเมินมูลค่าตลาดรวมมือถือในปีที่ผ่านมาว่า มีมูลค่าประมาณ 29,000 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะเติบโตคิดเป็นมูลค่า 36,000 ล้านบาทต่อปี โดยมูลค่าตลาดมือถือกลุ่มสมาร์ทโฟนคาดว่าจะมีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าตลาดรวม หรือมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท



ปัจจุบัน บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด จำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ไอที โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2552 บริษัทมียอดขายในประเทศ 24,000 ล้านบาท ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่งในผลิตภัณฑ์แอลอีดีทีวี แอลซีดีทีวี พลาสม่าทีวี สลิมทีวี ตู้เย็นแบบไซด์บายไซด์ ตู้เย็น 2 ประตู เครื่องซักผ้าอัตโนมัติ เตาอบไมโครเวฟ จอแอลซีดี มอนิเตอร์ เลเซอร์พรินเตอร์แบบมัลติฟังก์ชั่น และออปติคอล ดิสก์ ไดรฟ์ บริษัทมีพนักงานประมาณ 5,000 คน ในส่วนการขาย การตลาด และการผลิต


ข่าวโดย ผู้จัดการ
Black Friday Summer Sell

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น