หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กลุ่มทรู ประเมินอุทกภัย กระทบธุรกิจประมาณ 5% โดยส่วนใหญ่เกิดจากการตัดไฟ เล็งนำระบบโซล่าเซลล์เข้ามาใช้ในพื้นที่เสี่ยง ยืนยันการลงทุนปีหน้ายังเหมือนเดิม ไม่กังวลผลกระทบต่อเนื่อง เชื่ออุตสาหกรรมฟื้นตัวกลับมาได้แน่


ศุภชัย เจียรวนนท์ (ที่ 2 จากขวา) และคณะผู้บริหารกลุ่มทรู

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัทอยู่ในระหว่างการประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะจะเกี่ยวเนื่องกับในแง่ของบริษัทประกันภัย จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทำให้ยังไม่สามารถระบุเป็นจำนวนเงินได้ โดยความเสียหายหลักจะของทรู จะอยู่ที่การให้บริการบรอดแบนด์เป็นหลัก รองลงมาคือส่วนของทรู วิชั่นส์ และการให้บริการโทรศัพท์มือถือ ทรูมูฟ และทรูมูฟ เอช

"ในส่วนของบรอดแบนด์มีชุมสายย่อยที่โดนผลกระทบประมาณ 10 แห่ง ครอบคลุมประชากรราว 50,000 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนบน นนทบุรี และปทุมธานี ส่วนการให้บริการทรู วิชั่นส์ในส่วนของเคเบิล จะโดนผลกระทบจากการตัดไฟในแต่ละพื้นที่ และโครงข่ายโทรศัพท์ที่โดนผลกระทบจากน้ำท่วมมี 9 สถานีฐาน อยู่ในพื้นที่ อยุธยา ปทุมธานี ที่จมน้ำ และถ้ารวมในพื้นที่ที่มีการตัดไฟจะรวมเป็น 100 สถานีฐาน จาก 9,000 ทั่วประเทศ"

จากผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้น ระบบการคิดเงินค่าบริการรายเดือนของทั้งทรู อินเทอร์เน็ต และทรูวิชั่นส์ จะปรับเปลี่ยนไปคิดตามจำนวนวันที่สามารถใช้งานได้แทน ส่วนลูกค้าทรูมูฟ และทรูมูฟ เอช มีการขยายระยะเวลา แม้ว่าลูกค้าเติมเงินจะใช้วันหมดแล้วก็จะขยายให้ เป็นเดือนต่อเดือน ในพื้นที่เขตน้ำท่วมและยังเติมเงินให้ฟรีเป็นครั้งๆไป ครั้งละ 20 บาท รวมถึงให้บริการส่งข้อความให้เบอร์ที่ต้องการติตต่อโทรกลับ

"เหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของทรู ราว 5-6% ของช่วงที่ประสบภัยเช่นเดียวกับทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม โทรคมนาคม ซึ่งในส่วนของเคเบิล ทรูวิชัน ก็มีลูกค้าที่ดาวเทียมประมาณ 3-4% เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ"

โดยรวมแล้วกลุ่มทรู ได้ใช้งบประมาณไปแล้วราว 43 ล้านบาท ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยแบ่งเป็น 23 ล้านบาทจากการให้บริการเติมเงิน-เติมวันให้ลูกค้า และ 20 ล้านบาทในการร่วมบริจาคไปยังหน่วยงาน และมูลนิธิทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

*** เล็งนำโซล่าเซลล์เข้ามาใช้ในพื้นที่เสี่ยง ***

นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า อุทกภัยครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีกับทรู คอร์ป ทำให้ต้องเตรียมตัวให้มีความพร้อมมากขึ้น และวางมาตรการสำหรับประเมินว่าถ้าปีหน้ามีเหตุที่ไม่คาดฝันมากกว่านี้ ซึ่งในระหว่างนี้ก็อยู่ในช่วงหารือนำแผงโซล่าเซลล์สำหรับผลิตไฟฟ้าเข้ามาใช้ในพื้นที่ประสบภัย

"การนำแผงโซล่าเซลล์เข้ามาใช้ร่วมกับสถานีฐานจะต้องแล้วเสร็จภายใน 6-7 เดือน เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจะเกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้ตอนนี้ต้องประชุม หารือ เพื่อดำเนินการณ์ไปพร้อมๆกับการซ่อมบำรุงในพื้นที่ประสบภัย ขณะเดียวกันก็ต้องหามาตรการ และคำนวนหาพื้นที่ที่อาจเกิดภัยพิบัติในอนาคต"

นอกจากนี้ยังมีแผนร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่องดเว้นการตัดไฟสถานีฐาน เนื่องจากเป็นสาธารณูปโภคที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้ ซึ่งการไฟฟ้า ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

*** เปิดศูนย์คอลเซ็นเตอร์ต่างจังหวัด ***

ในส่วนของการให้บริการคอลเซ็นเตอร์กับลูกค้า จากเดิมที่เปิดศูนย์ให้บริการกระจายอยู่หลายแห่งในกรุงเทพฯ ตอนนี้ได้เปิดศูนย์ให้บริการคอลเซ็นเตอร์เพิ่มเติมที่หัวหิน มีพนักงานประจำราว 300 คน และในอนาคตอันใกล้ จะมีเปิดเพิ่มที่ชลบุรี เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงให้น้อยที่สุด

*** ไม่กระทบขยายบริการ 3G ***

นายศุภชัย กล่าวถึงการขยายพื้นที่ให้บริการ 3G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศว่า ขณะที่ยังดำเนินการณ์ต่อไปเรื่อยๆ จะมีการหยุดชะงักบ้าง ในบางพื้นที่ ที่ผู้รับเหมาไม่สามารถเข้าไปติดตั้งได้ แต่เชื่อว่าหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติผ่านไป ก็จะสามารถติดตั้งได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

"งบลงทุนในการขยายพื้นที่ให้บริการ 3G และบรอดแบนด์ ในปีหน้ายังคงอยู่ที่ 1 − 1.5 หมื่นล้านบาทเช่นเดิม แต่จะรวมถึงงบในการวางแผนป้องกันภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย"

ขณะเดียวกันเชื่อว่าภัยพิบัติครั้งนี้อาจส่งผลให้แก่หลายๆอุตสาหกรรมยาวนานถึงช่วงครึ่งปีหน้า ซึ่งในส่วนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จะฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อาจจะไม่เติบโตตามที่ควรจะเป็นในช่วงแรก แต่ท้ายที่สุดในช่วงครึ่งปีหลังก็จะดีดตัวกลับมา


ข่าวโดย ผู้จัดการ

อ่านต่อที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น